สำหรับคุณผู้อ่าน ที่เคยเห็นเพื่อน , ญาติ หรือคนรู้จัก หาสินค้าไปขายตามตลาดนัด จนกระทั่งเกิดความคิดอยากจะหาของไปขายเหมือนกับเพื่อนบ้าง เพราะจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น หากแต่หลายคนๆก็ติดปัญหาในหลายๆประการ เช่น ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว , ไม่เคยขายของ , ไม่รู้จักวิธีจองล็อค และมีทุนน้อย โดยสำหรับคนที่ไม่เคยขายของตามตลาดนัด หรือไม่มีประสบการณ์อะไรเลย วันนี้เราได้นำวิธี รวมทั้งขั้นตอนในการขายของตามตลาดนัดมาฝากพ่อค้า – แม่ค้ามือใหม่กัน
อยากขายของตามตลาดนัด มาดูวิธีเริ่มต้นกันได้เลย
ขายที่ไหนดี ?
เป็นคำถามแรกที่หลายๆคนไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นยังไง โดยวิธีง่ายสุด คือ ค้นหาตามอินเตอร์เน็ต หรือ ตามสื่อโซเชี่ยวอย่าง Facebook ว่าห้างไหนจะมีการจัดตลาดนัด , ตรงไหนจะมีงาน , ส่วนไหนมีแบ่งพื้นที่ให้เช่า , ราคาเท่าไร และกลุ่มลูกค้าที่เดินตรงกับสินค้าที่คุณจะขายหรือไม่
ติดต่อฝ่ายขาย
หลังจากคุณได้ทราบแล้วว่า เป้าหมายของการขายของในตลาดนัดอยู่แห่งหนใดแล้ว คุณก็ต้องหาที่อยู่และเบอร์ติดต่อฝ่ายขายของตลาดนัดที่คุณสนใจ เมื่อได้มาแล้วก็รีบโทรไปติดต่อพร้อมสอบถามรายละเอียดทันที อย่ารีรอ เพราะพื้นที่ดีๆ มักถูกจับจองเต็มหมดไปแล้ว ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้คุณควรส่งรายละเอียดให้ Sale ดูด้วย เนื่องจากจะช่วยให้การพิจารณาของ Sale ง่ายขึ้น
โอนเงินค่าเช่า
เมื่อคุณตกลงรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ ให้คุณโอนเงินค่าเช่าให้เร็วสุดเท่าจะทำได้ เพราะถ้าคุณโอนช้า แล้วเกิดมีคนอื่นโอนมาก่อน Sale ก็ต้องขายให้คนก่อน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการธุรกิจ
จัดเตรียมสินค้าพร้อมอุปกรณ์ขายของ
ต่อมาคุณต้องเริ่มจัดเตรียมอุปกรณ์ขายของให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการทำป้ายร้าน , ซื้อข้าวของเครื่องใช้จิปาถะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ และในขั้นตอนนี้คุณต้องทำบัญชีรายจ่ายให้ดีๆ เนื่องจากเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว โดยไม่นับรวมกับค่าสินค้าที่เตรียมไว้ขาย ถ้าทำอลังการงานสร้างมากก็จะมีราคาสูงตามไปด้วย
ลงขายของจริง
ในที่สุดคุณก็มาถึงขั้นตอนสุดท้ายจนได้ โดยคุณควรจัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย วางเรียงให้สะดุดสายตา พร้อมจัดป้ายหน้าร้าน จัดไฟให้มีความสว่าง ช่วยกระตุ้นพร้อมดึงดูดความสนใจ นอกจากนี้คุณอาจใช้กลยุทธ์การตลาด , การขาย หรือการนำเสนอสินค้า เข้ามาช่วยให้สินค้าของคุณขายดีด้วยก็ได้ โดยข้อดีของการค้าขายในตลาดนัด ก็คือ คุณสามารถสัมผัสใกล้ชิดกับผู้บริโภคได้มากกว่าการขายออนไลน์นั่นเอง